
เมื่อเราได้เรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานและศึกษาไวยากรณ์ต่าง ๆ ในหนังสือเรียนไปพอสมควรแล้ว เราก็ควรจะต้องหาสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ใช่ “หนังสือเรียน” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองด้วย และจุดนี้เองที่ “หนังสือนอกเวลา” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเรียนภาษาของเรา
ในบทความนี้เราจะพูดถึง:
- หนังสืออ่านนอกเวลาคืออะไร
- ทำไมการอ่านหนังสือนอกเวลาถึงมีประโยชน์กับผู้เรียนภาษา
- ตัวอย่างหนังสืออ่านนอกเวลา
- แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
De opmaat, TaalCompleet, Netherlands in gang, Welkom in Nederland เหล่านี้คือตัวอย่างของหนังสือที่เราอาจจะเรียกได้ว่า “หนังสือเรียน” นั่นคือหนังสือที่เราใช้ประกอบการเรียนภาษาดัตช์และเตรียมตัวเพื่อไปสอบวิชาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ฟัง พูด อ่าน เขียน และบูรณาการสังคม เนื้อหาในหนังสือเหล่านี้จะออกแบบมาเพื่อให้คนที่ย้ายมาอยู่ใหม่อย่างพวกเรา ได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาเนเธอร์แลนด์ด้วยคำศัพท์และไวยากรณ์ที่ไม่ยากมากสำหรับระดับ A1-A2 ก่อนจะเริ่มแนะนำบทความข่าวหรือความรู้ที่หลากหลายขึ้นในระดับ B1-B2 สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ หนังสือเหล่านี้มุ่งเน้นให้เราเรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ และไวยากรณ์ที่จำเป็นต่อการสื่อสารในภาษาดัตช์ แต่โดยธรรมชาติขอหนังสือเรียน ซึ่งจะมีการตีพิมพ์ออกมาขายจำนวนมาก และเว้นระยะเวลานาน(มาก)กว่าจะมีการปรับปรุงเนื้อหา(บางส่วน) ทำมีเนื้อหาที่เริ่มจะล้าหลังบ้างในบางกรณี เช่น บทความข่าวที่ไม่เข้ากับยุคสมัย สถานการณ์สมมติที่แทบไม่เกิดขึ้นในปัจจุบันแล้ว หรือสำนวนที่เลิกใช้ไปนานแล้ว เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ในการเรียนภาษาดัตช์ด้วยหนังสือเรียน ผู้เรียนก็ควรที่จะตระหนักถึงหน้าที่ของตัวเองและพยายามกอบโกยประโยชน์จากหนังสือให้มากที่สุด ทั้งคำศัพท์พื้นฐานและไวยากรณ์ต่าง ๆ และผู้สอนก็ควรให้คำอธิบายเพิ่มเติมเมื่อจำเป็น ในกรณีอย่างเช่น สำนวนที่คนเลิกใช้ไปแล้ว หรือหาแบบฝึกหัดเสริมที่ทันยุคทันสมัยเพื่อทำให้คอร์สเรียนไม่น่าเบื่อจนเกินไป
หนังสืออ่านนอกเวลาคืออะไร?
เมื่อเราได้เรียนรู้คำศัพท์พื้นฐานและศึกษาไวยากรณ์ต่าง ๆ ในหนังสือเรียนไปพอสมควรแล้ว เราก็ควรจะต้องหาสื่อการเรียนการสอนที่ไม่ใช่ “หนังสือเรียน” เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้กับตัวเองด้วย และจุดนี้เองที่ “หนังสือนอกเวลา” เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเรียนภาษาของเรา
หนังสืออ่านนอกเวลา หรือ หนังสืออ่านเล่น สำหรับหลาย ๆ คนอาจจะเป็นหนังสือที่สรุปย่อวรรณกรรมเล่มดังให้สั้นลงและเรียบเรียงด้วยคำศัพท์ที่อ่านเข้าใจง่ายไม่ต้องตีความมากนัก เหมาะกับการอ่านควบคู่ไปกับการเรียนภาษานั้น ๆ แต่ในที่นี้ จะขอพูดถึงหนังสืออ่านเล่นที่เราเลือกเองตามใจชอบ เพื่อใช้ในการฝึกแปลแบบเดาบริบทหรือเพื่อเก็บเกี่ยวคำศัพท์ใหม่ ๆ เพิ่มเติม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือความรู้รอบตัวสำหรับเด็ก, นิตยสาร, วารสารแจกฟรี, หนังสือพิมพ์, นิยาย, บทความตามบล็อก-เว็บไซต์ต่าง ๆ หรือหนังสือนิยายขนาดสั้นสำหรับคนเรียน NT2 ตามห้องสมุด บอกเล่าเรื่องราวของคนที่ย้ายมาอยู่ใหม่ เกี่ยวกับการปรับตัวทั้งเรื่องภาษาและวัฒนธรรม เป็นต้น
ทำไมการอ่านหนังสือนอกเวลาถึงมีประโยชน์กับผู้เรียนภาษา
- เนื้อหาสั้นกระชับ ทำให้รู้สึกว่าอ่านง่าย ไม่ลำบากในการเริ่มต้นลงมืออ่าน
โดยส่วนมาก หนังสืออ่านนอกเวลา (สำหรับเด็ก) จะมีสีสันและรูปรูปภาพที่น่าดึงดูดใจ และการจัดเรียงเนื้อหาที่พารากราฟเล็ก ๆ สั้น ๆ หรือถ้าเป็นหนังสือพ็อคเก็ตบุ๊คขนาดไม่เกิน A5 ก็มักจะมีเนื้อหาแบบที่เราสามารถอ่านจบเรื่องได้ในหน้าเดียว เมื่อเราเห็นแบบนี้แล้วก็จะเกิดความคิดว่า มันไม่เยอะ ไม่ต้องใช้ความพยายามมากเกินไป และกระตุ้นให้เราอยากที่จะลองเริ่มต้นอ่านได้โดยง่าย
- เนื้อหามีความเป็นปัจจุบันทันเหตุการณ์ ช่วยให้เดาคำศัพท์จากบริบทได้ง่ายขึ้น
โดยเฉพาะบทความตามนิตยสาร หนังสือพิมพ์ หรือบทความข่าวออนไลน์ ซึ่งถ้าหากว่าเราเป็นคนที่ชอบดูข่าวประจำวันอยู่แล้ว ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เราจะได้เจอบทความที่มีเนื้อหาซ้ำกับข่าวที่เราเคยดูหรือเคยฟังมาก่อน เราจะรู้สึกคุ้นเคยกับเนื้อหาและบริบทของบทความ ทำให้สามารถอ่านแบบคร่าว ๆ ได้ ในขณะเดียวกันก็ได้รู้จักคำศัพท์ใหม่ ๆ ในหัวข้อนั้น ๆ ด้วย เป็นการขยายคลังศัพท์ไปในตัว
- เราสามารถกำหนดได้เองว่าอยากเรียนรู้เรื่องอะไรในบริบทไหน
อย่างที่บอกไปแล้วว่า เรามีตัวเลือกสื่อสำหรับอ่านนอกเวลาอยู่มากมาย หากว่าวันไหนเราอยากศึกษาคำศัพท์ข่าวสารปัจจุบันเอาไว้ไปคุยกับคนที่บ้าน เราก็เลือกหาอ่านบทความข่าวออนไลน์หรือหนังสือพิมพ์ ถ้าเรามีความสนใจหัวข้อไหนเป็นพิเศษเราก็เลือกนิตยสารที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ โดยเฉพาะ หรือในวันที่เราไม่อยากอ่านอะไรที่จริงจังเกินไป ก็ยังมีหนังสือความรู้ทั่วไปสำหรับเด็กหรือนิยายเด็กประถมให้ลองหัดอ่านได้
- ได้ทบทวนและทดสอบความรู้ไวยากรณ์
A1/A2 นิทานเด็กเล็ก ฝึกโครงสร้างประโยคบอกเล่า-คำถามแบบง่าย กริยาปัจจุบัน
A2/B1 นิยายเด็กโตที่เริ่มเล่าเรื่องด้วยกริยาอดีต หรือหนังสือความรู้รอบตัวที่โครงสร้างประโยคซับซ้อนขึ้น
B1/B2 บทความข่าวหรือบทความวิชาการที่มีโครงสร้างประโยคซับซ้อนมาก และใช้คำศัพท์เฉพาะด้านมากขึ้น
*การเรียนการสอบ ไม่ใช่ตัวกำหนดระดับความรู้ทางภาษาของเราเสมอไป คนหนึ่งคนสามารถมีทักษะทางภาษาในระดับที่ต่างกันออกไปได้ เช่น เราอาจจะเขียนได้ประมาณ A2 พูดได้ประมาณ A1 อ่านได้ประมาณ B1 เป็นต้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการฝึกฝนและท้าทายตัวเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาความสามารถของเราเอง*
- ได้ความรู้รอบตัว ดีต่อสมอง และยังช่วยให้มีหัวข้อสนุก ๆ ไว้คุยกับคนอื่น
ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาที่แปลกใหม่น่าสนใจ การพยายามเดาคำศัพท์จากบริบท หรือการพยายามฝึกแปลเรียบเรียงเนื้อหาให้ตัวเองเข้าใจ ล้วนแล้วแต่มีส่วนช่วยกระตุ้นให้สมองของเราตื่นตัวและพัฒนาขึ้นทั้งสิ้น (แน่นอนว่าควรจำกัดไม่ให้มันยากเกินไป เพราะมิเช่นนั้นสมองของเราอาจจะเครียดแทน) และคนที่มีความรู้รอบตัวเยอะ ย่อมสนุกกับการฟัง-อ่าน-ร่วมวงสนทนากับคนอื่น ๆ ได้มากกว่าคนที่มีความจำกัดในเรื่องเหล่านี้ ถึงแม้ในบางกรณีเราจะยังไม่สามารถโต้ตอบได้ดีนัก แต่ถ้าเราสามารถเข้าใจและแสดงสีหน้าท่าทางตอบสนองต่อสิ่งที่คนอื่นพูดได้ เราก็จะรู้สึกดีที่ได้มีส่วนร่วมและได้พยายามใช้ความสามารถในการสื่อสารภาษาดัตช์แล้ว
ตัวอย่างหนังสือนอกเวลา / หนังสืออ่านเล่น / สื่อการอ่านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หนังสือเรียน

นิทานเด็ก ไม่ว่าจะของเก่าสะสมของคู่ครองชาวดัตช์ หรือจะเป็นนิทานของลูกที่ซื้อมาหรือที่ยืมมาจากห้องสมุด


หนังสือความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับภาษาดัตช์ เช่น หนังสือรวมบทความขนาดสั้นเกี่ยวกับที่มาของคำศัพท์ที่ได้ยินบ่อย ๆ ในภาษาดัตช์ เนื้อหามักจะสั้น จบในหนึ่งหน้า


หนังสือความรู้รอบตัว (เลือกแบบสำหรับเด็กมาให้ดู) โดยอาจจะแบ่งเป็นหมวดหมู่ต่าง ๆ เช่น เรื่องราชวงศ์ เรื่องวิทยาศาสตร์ เรื่องสัตว์และธรรมชาติ เป็นต้น

พ็อคเก็ตบุค อ่านสนุก เนื้อหาเบาสมอง เสียดสีตลกขบขัน หรือรวมเล่มบทความจากคอลัมน์หนังสือพิมพ์หัวใหญ่ ๆ

นิยายหรือเรื่องแต่ง มีให้เลือกทั้งแบบเด็กเล็ก เด็กโต ผู้ใหญ่ และคนย้ายมาอยู่ใหม่แบบพวกเรา (Paul en Paula เล่าเรื่องการปรับตัวของสาวสเปนที่พบรักและอยู่กินกับหนุ่มดัตช์)

นิตยสาร ถ้าหากรู้ว่าตัวเองชอบหรือสนใจอะไรเป็นพิเศษ เราก็สามารถเลือกเจาะอ่านเฉพาะเล่มที่เขียนเกี่ยวกับหัวข้อนั้นได้เลย เช่น Landleven (ไลฟ์สไตล์ชนบท ชีวิตติดฟาร์ม ใกล้ชิดธรรมชาติ), Gezond Nu (สุขภาพ), Psychologie (จิตวิทยา), HP De Tijd (นำเสนอความคิดเห็นกับประเด็นต่าง ๆ ในสังคม), Onze Taal (เกี่ยวกับภาษาดัตช์)

วารสารหรือใบปลิวแจกฟรี อย่างในรูปตัวอย่างคือ วารสารแจกฟรีของซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งหนึ่ง ด้านในจะมีทั้งโฆษณาสินค้าใหม่ ๆ สูตรอาหาร และบทความขนาดสั้น นอกจากนี้ยังมีใบปลิว/แผ่นพับจากร้านเภสัชหมอบ้าน เกี่ยวกับอาการเจ็บไข้ต่าง ๆ
แหล่งค้นคว้าเพิ่มเติม
เริ่มจากของฟรีใกล้ตัว ทั้งหนังสือที่มีอยู่แล้วในบ้าน อาจจะเป็นของลูกหรือของคู่ครองชาวดัตช์
ห้องสมุดก็เป็นแหล่งค้นหนังสือชั้นดี ไม่ว่าจะเพื่อไปนั่งอ่านฟรี ยืมมาอ่านที่บ้าน หรือไปลองดูตัวอย่างก่อนซื้อก็ได้
สำหรับใครที่ไม่สะดวกออกไปห้องสมุดก็สามารถเสิร์ชหาหนังสือที่น่าสนใจในอินเตอร์เน็ทได้เช่นกัน โดยอาจจะค้นหาว่า “kinderboeken” (หนังสือเด็ก, “weetjesboeken” (หนังสือความรู้รอบตัว), “bloggen over…” (บล็อกเกี่ยวกับ...), หรือจะเข้าไปอ่านบทความข่าวตามเว็บไซต์สำนักข่าว/หนังสือพิมพ์ต่าง ๆ ก็ได้
Reactie plaatsen
Reacties