การออกเสียงและการผันรูปคำศัพท์ (A1-A2)

Gepubliceerd op 22 april 2024 om 17:19

ในภาษาดัตช์มีการผันรูปคำศัพท์หลายแบบ ไม่ว่าจะเป็นการผันคำกริยา การผันคำนามรูปพหูพจน์ การผันคำขยายที่อยู่หน้าคำนาม และการผันคำขยายเปรียบเทียบขั้นกว่า โดยสิ่งที่จะช่วยให้เราเข้าใจและจดจำวิธีผันรูปคำศัพท์ได้อย่างถูกต้องแม่นยำมากกว่าการใช้ความจำอย่างเดียวก็คือ หลักการออกเสียงสั้น-ยาว และพยางค์ปิด-พยางค์เปิด

พยางค์ปิด คือพยางค์ที่มีตัวสะกด ออกเสียงสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับจำนวนตัวสระ
พยางค์ปิดเสียงยาว มีสระเบิ้ล 2 ตัว เช่น praat, weet, woon, buur
พยางค์ปิดเสียงสั้น มีสระ 1 ตัว เช่น kat, met, wit, sok, zus
ยกเว้น e ที่เป็นพยางค์ปิดไม่เน้นเสียง กร่อนเสียงเป็น [เออะ] เช่นพยางค์ ten ในคำว่า eten [เอ้-เติ่น]
และยกเว้น ig ที่เป็นพยางค์ไม่เน้นเสียง กร่อนเสียงเป็น [อึฆ] หรือ [เอิ่ฆ] เช่นพยางค์ zig ในคำว่า bezig [เบ้-ซึฆ]

 

พยางค์เปิด คือพยางค์ที่ไม่มีตัวสะกด ออกเสียงยาว เช่น ga, sta, zo, nu, wifi
ยกเว้น ee ที่เบิ้ลสระแบบไม่มีตัวสะกดได้ เช่น nee, zee, thee
ยกเว้น e ที่เป็นพยางค์เปิดไม่เน้นเสียง กร่อนเสียงเป็น [เออะ] เช่นพยางค์ ge แรกในคำว่า gegeten [เฆอะ-เฆ่-เติ่น]
และยกเว้น e ที่เป็นคำพยางค์เปิด กร่อนเสียงเป็น [เออะ] เช่น de, me, je, we, te, ze

เมื่อเข้าใจหลักการพื้นฐานข้างต้นแล้วลองศึกษาการผันรูปคำศัพท์ที่มี "การคงเสียงยาว" และ "การคงเสียงสั้น" ต่อไปนี้

 

การคงเสียงยาว

คำกริยา maken เมื่อผันเข้ากับประธาน ik จะได้ว่า:

Ik maak
Ik maakte
Ik heb gemaakt

 

สังเกตว่าเมื่อคำนี้อยู่ใน “รูปเต็ม” มันจะมีตัวสระ a แค่ 1 ตัว และกฎการแบ่งพยางค์ช่วยให้เรารู้ว่าคำนี้มี 2 พยางค์คือ ma-ken โดยพยางค์ ma เป็นพยางค์เปิดออกเสียงยาว [มา] และการเปิดพจนานุกรมหรือการตั้งใจฟังวิธีออกเสียงก็ทำให้เรารู้ว่าคำนี้เน้นเสียงที่พยางค์ ma ส่วนพยางค์ ken ไม่เน้นและกร่อนเสียง ดังนั้นคำนี้จึงออกเสียงว่า [ม่า-เกิ่น]

 

ต่อมาเมื่อเราต้องผันคำกริยานี้เข้ากับประธาน เราจะเริ่มจากการหา stam หรือ ik-vorm ด้วยการตัดพยางค์ -en ท้ายคำออกไป
แต่ปัญหาของคำว่า maken คือ เมื่อเราตัด -en ออกแล้วจะเหลือ mak ซึ่งเป็นพยางค์ปิดเสียงสั้น [มัก] แตกต่างจากพยางค์ ma [มา] ในรูปเต็ม และหลักการสำคัญของการผันรูปคำศัพท์คือ เราจะต้องคงเสียงเดิมของคำเอาไว้ ดังนั้นเราจึงต้องทำให้ mak กลายเป็นพยางค์ปิดเสียงยาวโดยการเพิ่มสระ a อีก 1 ตัว จาก mak [มัก] กลายเป็น maak [มาก] ซึ่งเป็นรูปผันที่ถูกต้อง

 

ตัวอย่างคำกริยาที่ผันเหมือนกรณีนี้:

wonen - ik woon, spelen - ik speel, koken - ik kook, nemen - ik neem, sturen - ik stuur, studeren - ik studeer, weten - ik weet

 

ตัวอย่างคำที่เป็นข้อยกเว้น:

komen รูปเต็ม พยางค์ ko ออกเสียงยาว [โก] แต่เมื่อผันเข้าประธานแล้วกลายเป็นคำเสียงสั้น ik kom [ก็ม]

 

คำนาม buur เมื่อผันเป็นรูปพหูพจน์จะกลายเป็น buren

หลักการผันคำนามรูปพหูพจน์ที่พบบ่อยที่สุดคือการเติม -en ต่อท้ายคำ และในที่นี้คือ buuren แต่เมื่อเราแบ่งพยางค์ออกจากกันแล้วจะพบว่า buu กลายเป็นพยางค์เปิดที่สะกดผิดหลักการที่บอกว่า พยางค์เปิดจะมีสระแค่ 1 ตัว ดังนั้นเราจึงต้องตัดสระ u ออก 1 ตัว เหลือแค่ bu-ren โดยที่ bu จะยังคงออกเสียงยาวเหมือนรูปเดิม (รูปเอกพจน์) แค่เปลี่ยนจากพยางค์ปิดมาเป็นเป็นพยางค์เปิดเท่านั้นเอง

 

ตัวอย่างคำนามที่ผันเหมือนกรณีนี้:

week - weken, taak - taken, been - benen, poot - poten, minuut - minuten

 

ตัวอย่างคำขยายที่ผันเหมือนกรณีนี้:

laag - lage/lager, duur - dure, heet - hete/heter, hoog - hoge/hoger


การคงเสียงสั้น

คำกริยา wassen เมื่อผันเข้ากับประธาน ik จะได้ว่า:

Ik was
Ik waste
Ik heb gewassen

 

สังเกตว่าเมื่อคำนี้อยู่ใน “รูปเต็ม” มันจะมีตัวสะกด ss เบิ้ล 2 ตัว ทำให้แบ่งพยางค์ได้เป็น was-sen และหลักการเรื่องพยางค์ช่วยให้เรารู้ว่า was เป็นพยางค์ปิดเสียงสั้น [วัส] ต่อมาเมื่อเราผันคำกริยาคำนี้ด้วยการหา stam หรือ ik-vorm เราจะตัดพยางค์ -en ออกจนได้เป็น wass แต่หลักการสะกดคำของภาษาดัตช์บอกว่า ตัวสะกดไม่สามารถเป็นพยัญชนะซ้ำกันได้ ดังนั้นเราจึงต้องตัด s ออก 1 ตัว และได้เป็น ik was [วัส] ที่ออกเสียงสั้นเหมือนรูปเต็ม

 

คำนาม pen เมื่อผันเป็นรูปพหูพจน์จะกลายเป็น pennen

เมื่อเราใช้หลักการเพิ่ม -en ต่อท้ายคำนามจะได้เป็น penen ซึ่งแบ่งพยางค์ได้เป็น pe-nen แต่พยางค์ pe เป็นพยางค์เปิดออกเสียงยาว [เป] ซึ่งไม่ตรงตามเสียงของรูปเดิมของคำนี้ที่ pen ออกเสียงสั้น [เป็น] ดังนั้นเราจึงจะต้องผันคำศัพท์แบบคงเสียงยาวเอาไว้ด้วยการเพิ่มตัวสะกด n เข้าไปอีก 1 ตัว เป็น pennen [เป็น-เนิ่น]

 

ตัวอย่างคำนามที่ผันเหมือนกรณีนี้:

kat - katten, zak - zakken, mug - muggen, vis - vissen

 

ตัวอย่างคำขยายที่ผันเหมือนกรณีนี้:

snel - snelle/sneller, nat - natte, gek - gekke, dun - dunne/dunner, dik - dikke/dikker

 

ตัวอย่างคำที่เป็นข้อยกเว้น:

คำว่า pad มี 2 ความหมายและมีการผันรูปพหูพจน์ 2 แบบ

de pad ที่แปลว่า คางคก มีรูปพหูพจน์เป็น padden [ปั้ด-เดิ่น]
สังเกตว่าคำนี้ต้องเบิ้ลตัวสะกดเพื่อคงเสียงสั้นตามรูปเดิม เป็นไปตามหลักการปกติ

แต่

het pad ที่แปลว่า ทางเล็ก ๆ มีรูปพหูพจน์เป็น paden [ป้า-เดิ่น]
สังเกตว่าคำนี้เปลี่ยนจากเสียงสั้นเป็นเสียงยาว ไม่ต้องเบิ้ลตัวสะกด ไม่ต้องคงเสียงสั้น

คำว่า het glas ที่แปลว่า แก้วใส มีรูปพหูพจน์เป็น glazen [ฆล่า-เซิ่น]
สังเกตว่าคำนี้เปลี่ยนจากเสียงสั้นเป็นเสียงยาว ไม่ต้องเบิ้ลตัวสะกด ไม่ต้องคงเสียงสั้น

 

ความรู้เรื่องการออกเสียงโดยเฉพาะหลักการของพยางค์ปิด-เปิด เสียงสั้น-ยาว และพยางค์เน้นเสียงกับการกร่อนเสียง คือความรู้พื้นฐานที่จะกลายมาเป็นเครื่องมือสำคัญซึ่งคอยทำงานอยู่เบื้องหลังและช่วยให้เราเรียนรู้หลักการอื่น ๆ ของภาษาใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

Reactie plaatsen

Reacties

Er zijn geen reacties geplaatst.