
สำหรับหลาย ๆ คน การเรียนภาษาเป็นทักษะที่พัฒนาได้ดีเมื่อทำด้วยตัวเอง อาจจะเพราะชอบอิสรภาพในการคิดหาแนวทางการเรียน และอิสรภาพในการควบคุมระดับความเร็วและความยากของการเรียน แต่ก็ยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เติบโตมาพร้อมกับ "ทักษะการเรียนรู้" ที่เหมาะสมกับการเรียนภาษาด้วยตัวเอง และนี่เองที่ทำให้หลักสูตรการเรียนภาษาซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ร่วมกัน "ทั้งห้อง" ยังคงมีประโยชน์อยู่มากในปัจจุบัน
ในบทความนี้ จะขอพูดเน้นถึง "ประโยชน์" ของการเรียนภาษาแบบยึดตามหลักสูตรสำเร็จรูปที่มาในรูปของหนังสือเรียนเล่มหลักเท่านั้น ทั้งในส่วนของการไปเรียนที่โรงเรียนและการเรียนด้วยตัวเองที่บ้าน(อย่างมีวินัย) เราจะไปดูกันว่าทำไมคนส่วนหนึ่งถึงเลือกที่จะไปโรงเรียนหรือใช้หนังสือเล่มหลัก(หลักสูตรเดียว)เรียนเองที่บ้าน จากนั้นเราก็จะมาลองพิจารณาลงลึกไปอีกขั้น เพื่อดูว่า วิธีเรียนแบบนี้ มีส่วนช่วยในการประหยัดเวลาและกำลังใจอย่างไรบ้าง
อนึ่ง เหตุผลที่เราจะไม่พูดถึงข้อเสียของการเรียนด้วยวิธีนี้ในบทความนี้ ก็เพราะว่าข้อเสียของสิ่งใด ๆ ก็ตาม มักเกิดขึ้นจากอิทธิพลของประสบการณ์ "ส่วนตัว" ของแต่ละคน เป็นการตัดสินด้วยความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น จึงไม่มีอะไรการันตีได้ว่ามันจะเกิดขึ้นกับคนอื่น ๆ ด้วย แน่นอนว่าทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นทั้งเชิงลบและเชิงบวก และทุกความคิดเห็นย่อมมีประโยชน์ในตัวของมันเอง แต่เนื่องจากว่าวัตถุประสงค์หลักของบทความนี้ คือการชี้ให้เห็นถึงข้อดีของการเรียนแบบมีครูและใช้หนังสือเล่มหลัก เพื่อกระตุ้นให้คนตัดสินใจเลือกวิธีเรียนและเรียนจนสอบภาคบังคับจบได้โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด จึงขอสงวนพื้นที่นี้ ไว้สำหรับสายรุ้งและทุ่งลาเวนเดอร์เท่านั้น
จากการสำรวจความคิดเห็นของสมาชิกในกลุ่ม "นัดเรียนดัตช์" พบว่า การเรียนภาษาดัตช์ที่โรงเรียนอาจมีประโยชน์ต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ทำให้เราเกิดวินัยในตัวเอง(โดยไม่รู้ตัวหรือไม่เต็มใจนัก) เนื่องจากมีทั้งครูและการบ้านคอยบังคับให้ต้องอ่านและฝึกฝน และเงินค่าคอร์สที่จ่ายไปก็ไม่ใช่จำนวนน้อย ๆ จึงทำให้เกิดแรงฮึดที่จะตั้งใจเรียนให้คุ้มค่าเงิน
- มีคนที่รู้จริงช่วยตอบคำถามข้อข้องใจ เพราะครูสอนดัตช์ย่อมรู้เกี่ยวกับภาษาดัตช์มากกว่าคู่ครองคนดัตช์ที่บ้านเป็นธรรมดา
- ได้ฝึกพูดอย่างเต็มที่ เพราะตามห้องเรียนส่วนมากจะบังคับให้ทุกคนพูดภาษาดัตช์ในเวลาเรียน และถ้าเราพูดผิด ครูก็มักจะช่วยแก้ไขให้เราพูดอย่างถูกต้องได้ เสริมสร้างความมั่นใจที่จะพูดในชีวิตประจำวัน และดีอย่างยิ่งสำหรับคนที่ไม่ได้ใช้ภาษาดัตช์เป็นภาษาหลักที่บ้าน
- ได้พัฒนาทักษะการฟัง ทั้งการฟังสำเนียงเจ้าของภาษาของครู โดยที่ครูมักจะพูดช้า ๆ ชัด ๆ เพื่อให้เราฟังตามได้ง่าย และโบนัสพิเศษคือการได้ฝึกฟังสำเนียงดัตช์ที่หลากหลายของเพื่อนร่วมชั้น เพราะต่อไปในชีวิตจริง เราจะได้เจอภาษาดัตช์หลากหลายสำเนียงมาก
- รู้สึกชอบการเรียนภาษาดัตช์มากขึ้น เพราะครูผู้สอนจะมีกิจกรรมรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ในการสอน เพื่อไม่ให้เกิดความจำเจน่าเบื่อ
- มีการทดสอบเพื่อประเมินผลผู้เรียนเป็นระยะ และครูจะให้ความเห็นต่อแบบฝึกหัดเขียนและพูดแบบเป็นการส่วนตัว ทำให้ผู้เรียนมองเห็นพัฒนาการและข้อควรปรับปรุงของตัวเองได้ชัดเจนขึ้น
- มีเพื่อนเรียน เหตุผลนี้อาจฟังดูขำ ๆ แต่ความรู้สึกเวลาที่ได้เห็นว่า เราไม่ได้เผชิญกับความยากลำบากในการเรียนนี้แค่คนเดียว อาจช่วยให้เราอดทนเรียนต่อไปได้เรื่อย ๆ
เหตุผลเบื้องหลังและแรงบันดาลใจของบทความนี้
การจากศึกษาข้อมูลทั้งในหนังสือและสื่ออื่น ๆ ผนวกกับมุมมองส่วนตัวในฐานะคนสอนภาษา(ถึงจะยังไม่ใช่ครูแบบเต็มตัวก็ตาม) จะขอสรุปเหตุผลที่ว่า ทำไมการเรียนภาษาดัตช์แบบใช้หนังสือหลักสูตรทั้งที่โรงเรียนและเรียนเองที่บ้าน จึงมีประโยชน์กับผู้เรียนอย่างมาก ดังนี้
- หนังสือเล่มหลักคือแผนที่นำทาง
หนังสือเรียนเล่มหลักจะแบ่งออกเป็นเล่ม ๆ ตามระดับ A1/A2/B1/B2/C1 อย่างชัดเจน และในหนังสือทุกเล่ม จะมีสารบัญ ซึ่งเปรียบเสมือน "แผนที่" ของคนเรียน เพราะมันจะบอกเราได้ว่าเราจะได้เรียนรู้คำศัพท์ในหมวดหมู่อะไรบ้าง หรือมีไวยากรณ์เรื่องไหนบ้างที่เราจำเป็นต้องรู้ในระดับนั้น ๆ การใช้หนังสือเล่มหลักเป็นสื่อเรียน จึงช่วยให้เรามั่นใจได้ว่า เราจะได้เรียนรู้สิ่งที่จำเป็นอย่างครบถ้วนสำหรับระดับ niveau ของเรา ไม่น้อยไป ไม่มากไป และค่อยเป็นค่อยไป
และถ้าใครคิดว่าการเรียนจากหนังสือเล่มหลักเป็นการตัดโอกาสการใช้ภาษาในชีวิตจริง ขอบอกเลยว่า ไม่จริง เพราะหนังสือเล่มหลักทุกเล่ม คือหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อสอนภาษาดัตช์แก่ผู้เรียนให้ครบทั้ง 5 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน และความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับวัฒนธรรมสังคม ซึ่งความรู้ที่ว่านี้จะมาในรูปแบบของแบบฝึกหัดต่าง ๆ เรื่องสั้นของแต่ละบทที่สอดแทรกความรู้และคำศัพท์เอาไว้ รวมถึงสำนวนการพูดโต้ตอบตามสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อให้เราได้ฝึกฟังแล้วพูดตาม และทำความเข้าใจ ให้มั่นใจ ก่อนจะนำไปฝึกพูดในชีวิตจริง เพราะฉะนั้น หนังสือเล่มหลักจึงมีให้เราหมดทุกอย่างแล้ว เพียงแต่เราต้องเลือกหลักสูตรที่ดี หรือเลือกโรงเรียนที่ใช้หนังสือหลักสูตรที่ดีและมีครูที่ใส่ใจ ใครสนใจอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการเลือกหนังสือเล่มหลักเพื่อใช้ในการเรียนภาษาดัตช์ สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้
- หลักสูตรการเรียนที่ชัดเจนช่วยให้เราไม่เสียเวลาและกำลังใจไปกับการลองผิดลองถูก
ประโยชน์ที่กล่าวมาข้างต้นสามารถช่วยป้องกันการเกิดปัญหาที่หลาย ๆ คนน่าจะเคยเจอหรือกำลังเผชิญอยู่ในการเรียนภาษาดัตช์ นั่นคือ การกักตุนสื่อการเรียน(ฟรี)แบบไม่มีเป้าหมาย และกลายเป็นว่าเรียนเองแบบกระจัดกระจายไม่มีทิศทาง ข้ามจากเรื่องง่ายไปเรื่องยาก เสียเวลาเรียนวกไปวนมา แล้วพอพบว่าตัวเองไม่เข้าใจอะไรเลย ก็พาลให้ท้อแท้ คิดว่าตัวเองไร้ความสามารถ และหยุดเรียนไปในที่สุด ใครที่กำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ในขณะนี้ ขอให้รู้ไว้ว่า คุณไม่ได้ไร้ความสามารถ ทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนภาษาใด ๆ ก็ได้ คุณแค่ต้องจัดการเวลา มีวินัย และใช้แผนที่การเรียนที่ชัดเจน
แล้วทุกอย่างก็วกกลับไปที่เรื่องของหนังสือหลักสูตรที่ออกแบบมาอย่างดีแล้วอีกครั้ง อย่างที่บอกไปแล้วว่า เนื้อหาและแบบฝึกหัดในหนังสือเล่มหลักมีการเรียงลำดับแบบเป็นระบบ ถ้าหากว่าใครไปเรียนที่โรงเรียน (ซึ่งจะมีหนังสือเล่มหลักที่บังคับใช้อยู่แล้ว) จะพบว่า ครูผู้สอนมักให้การบ้านเป็นรายวันหรือรายสัปดาห์ แปลว่า เราจะได้บังคับตัวเองให้ทำแบบฝึกหัดอย่างมีวินัย และได้ทบทวนความรู้ที่เรียนมาก่อนหน้าไปในตัว และต่อให้เราเลือกที่จะเรียนที่บ้านด้วยตัวเอง การใช้หนังสือเล่มหลักก็ช่วยให้เราได้ผลลัพธ์ในแนวเดียวกันได้ นั่นคือ หนังสือเล่มหลักทุกเล่มจะมาพร้อมกับรหัสที่ใช้ล็อกอินเข้าไปทำแบบฝึกหัดเสริมออนไลน์ หรือฟังเสียงสำหรับแบบฝึกหัดการฟัง และในหนังสือก็จะมีคำสั่งที่ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า เมื่อไหร่ที่เราควรล็อกอินเข้าไปฟังเสียงหรือทำแบบฝึกหัดออนไลน์ และควรทำข้อไหนบ้าง ทั้งนี้ การเรียนด้วยตัวเองจำเป็นต้องอาศัยวินัยการจัดเวลาและการให้ความสำคัญกับการเรียนอย่างมาก เพราะการเรียนด้วยตัวเองไม่ได้แปลว่า "เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ มีอารมณ์ค่อยเรียน" แต่การเรียนด้วยตัวเองคือ "การเรียนในเวลาที่เราสะดวกและเลือกกำหนดไว้ตายตัวแล้ว" เช่น ทุกวันตอนเช้ามืด หรือทุกวันหลังส่งลูกเข้านอน เป็นต้น การเรียนและการทำแบบฝึกหัด(การบ้าน)จำเป็นจะต้องทำให้ต่อเนื่องกันในขณะที่ความรู้จากบทเรียนยังคงสดใหม่อยู่ในหัวของเรา เพื่อป้องกันการลืม และเพื่อช่วยเสริมความเข้าใจและทำจดจำเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น
การเรียนภาษาดัตช์แต่ละระดับแบบมีครูจะใช้เวลาประมาณ 30-40 ชั่วโมง ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมกับเวลาที่เราจะต้องทำแบบฝึกหัดออนไลน์และทบทวนคำศัพท์เพิ่มเติมเองด้วย แต่จากประสบการณ์สอนภาษาดัตช์แบบตัวต่อตัวและใช้หนังสือเล่มหลักในการเรียนการสอน พบว่า ผู้เรียนจะใช้เวลาประมาณ 2.5 - 3 เดือน ในการเรียนและทำแบบฝึกหัดจนจบเล่ม(A1) และเมื่อเรียนระดับสูงขึ้นไป ก็จะอาจจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นตามลำดับ ซึ่งถ้าลองคิดเล่น ๆ แบบยังไม่คำนึงถึงเรื่องอื่น เราก็มีโอกาสที่จะเรียนภาษาดัตช์ตั้งแต่ระดับ 0-B1 จนจบได้ภายในหนึ่งปีถึงหนึ่งปีครึ่ง กรณีที่เราเรียนด้วยตัวเองแบบมีหนังสือเล่มหลักและเรียนได้อย่างต่อเนื่องก็อาจจะใช้เวลาสั้นหน่อย แต่ถ้าหากว่าเราเรียนที่โรงเรียนตามตารางที่กำหนด เราก็อาจต้องบวกเวลาเพิ่มในการรอสมัครเรียนสักเล็กน้อย แต่ก็อย่าลืมว่านี่คือเวลาในการเรียนเท่านั้น เรายังต้องนึกถึงเวลาในการฝึกฝนและการสอบเพิ่มเข้ามาอีกต่างหากด้วย
- การวัดผลจากแบบฝึกหัด บททดสอบ และคำติชมจากครูผู้สอน
แบบฝึกหัดที่อยู่ในหนังสือเล่มหลัก(และแบบฝึกหัดออนไลน์ของตัวเล่ม)จะมาพร้อมกับเฉลยที่เราสามารถตรวจดูได้เอง ยกเว้นในส่วนของการพูดและการเขียนที่เราจำเป็นต้องอาศัยครูส่วนตัวหรือคนดัตช์ที่บ้านให้ช่วยประเมินให้ แต่สำหรับคนที่ไปเรียนที่โรงเรียน ก็จะได้ทั้งทำการบ้านและตรวจทานเองกับเฉลย การทดสอบระหว่างเรียน และจะได้รับคำติชมจากครูผู้สอนสำหรับการบ้านเขียนและพูดแบบรายบุคคล อย่างที่เพื่อน ๆ ได้แสดงความคิดเห็นเอาไว้แล้วในข้างต้น ซึ่งการได้รับ feedback จากครูจะมีส่วนช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้อย่างตรงจุด นำไปสู่การพูดและเขียนที่ถูกต้องและมั่นใจ
อีกไม่นานก็จะมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายการสอบบูรณาการพลเมือง จากที่เคยบังคับว่าต้องสอบผ่านอย่างน้อยระดับ A2 ภายใน 3 ปี ก็จะกลายเป็นบังคับว่าบางวิชาจะต้องได้ระดับ B1 ด้วยภายในเวลาเท่าเดิม การวางแผนเลือกวิธีเรียนที่ถูกต้องจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะถ้าหากใครยังไม่รู้ ก็อยากจะบอกว่า ความรู้ภาษาระดับ A2 และ B1 มีช่องว่างที่เรียกได้ว่า "ก้าวกระโดด" เลยทีเดียว การจะเรียนระดับ B1 ให้ลำบากน้อยลงนั้น ต้องอาศัยพื้นฐานไวยากรณ์และคำศัพท์จาก A1 และ A2 ที่ดีถึงดีมาก และในขณะที่การเรียน A1 และ A2 อาจจะพออาศัยความสามารถส่วนตัวในการเรียนด้วยตัวเองได้บ้าง แต่สำหรับระดับ B1 นั้น ยังไงก็อยากจะแนะนำให้เรียนที่โรงเรียน เพราะเนื้อหาบทเรียนจะยากขึ้นมาก และการสอบก็จำเป็นต้องได้รับการฝีึกฝนอย่างดีด้วย
ใครที่คิดอยากลองหาหนังสือมาเรียนเองย่อมทำได้ แต่ถ้าเริ่มเห็นแววว่าไม่รอด หรือมีวินัยไม่ตลอดรอดฝั่ง ก็ขอให้เปลี่ยนแผนไปเรียนที่โรงเรียนหรือหาครูส่วนตัวทันที เพราะยิ่งรอเวลานาน ความกดดันหลาย ๆ ด้านก็ยิ่งพอกพูน
หลายคนอาจโชคดี ได้อยู่ในเทศบาลที่จัดงบประมาณให้เรียนบางระดับหรือทุกระดับฟรีจนถึง B1 แต่สำหรับใครที่ไม่ได้โชคดีแบบนั้น ก็อยากจะขอให้พิจารณาหาโรงเรียนแล้วไปเรียนแบบเป็นเรื่องเป็นราว จัดความสำคัญให้การเรียนอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของชีวิต เพื่อที่เราจะได้เรียนอย่างรู้เรื่องและเรียนจบไวในเวลาไม่นานเกินไป พยายามตั้งหมายในการให้เวลาเรื่องเรียนอย่างเต็มที่ และเรียนอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะสอบผ่าน
สำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะเลือกโรงเรียนอย่างไร สามารถเข้าไปค้นหาได้ที่ เว็บไซต์นี้ หรือโพสต์ถามเพื่อนคนไทยด้วยกันในชุมชน Facebook ว่าเมืองที่ตนอาศัยอยู่มีโรงเรียนไหนที่อยากแนะนำบ้าง แบบนี้เราก็จะได้รับรู้ประสบการณ์ตรงจากคนที่เคยเรียนที่นั่น และช่วยให้ตัดสินใจเลือกที่เรียนได้อย่างมั่นใจมากขึ้น
แต่ถ้าหากว่าใครมีปัญหากับการไปเรียนที่โรงเรียนจริง ๆ ก็อาจเพิ่มตัวเลือกเป็นการหาครูส่วนตัวที่สอนด้วยภาษาไทยก็ได้ ปัจจุบันตลาดครูคนไทยเริ่มขยายตัว เพราะความต้องการและความจำเป็นนั้นมีอยู่จริง เนื่องจากคนไทยจำนวนมากไม่สามารถใช้ภาษาอังกฤษหรือภาษาดัตช์เป็นสื่อกลางการเรียนได้ คำอธิบายเป็นภาษาไทยจึงอาจจะตอบโจทย์ได้ดีที่สุด
ประโยชน์ของสื่อการเรียนฟรีไม่ได้ถูกด้อยค่าแต่อย่างใด
สื่อการเรียนการสอนฟรี ๆ ยังคงมีประโยชน์ และมันก็ดีมาก ๆ ถ้าหากว่าเราเลือกใช้อยากถูกวิธี วิธีหนึ่งที่อยากแนะนำก็คือ ให้ยึดเนื้อหาจากหนังสือเรียนเล่มหลักเป็นหลัก อ่านและทำแบบฝึกหัดในหนังสือเล่มหลักก่อน แล้วถ้าพบว่ายังไม่เข้าใจในเรื่องไหน ค่อยไปเสิร์ช์หาคำอธิบายเพิ่มเติมในอินเตอร์เน็ท
แต่ถ้าใครคิดว่าไม่อยากใช้หนังสือเรียนเลย ก็ให้พยายามค้นหาคนสอนฟรี (ในยูทูบหรือที่ไหนก็ตาม) ที่สอนแบบเรียงลำดับเนื้อหาและสอนแบบต่อเนื่องครบทุกเรื่องที่เราควรรู้ตามระดับภาษานั้น ๆ อย่างเช่นช่องยูทูบของ juf m NT2 ซึ่งใช้เนื้อหาจากหนังสือเล่มหลัก TaalCompleet มาสอน หรืออาจจะเป็น Youtuber คนอื่น ๆ ที่อธิบายไวยากรณ์แยกให้ฟังเป็นเรื่อง ๆ แต่ในกรณีนี้เราจะต้องหาวิธีขยายคลังศัพท์ของตัวเองให้ได้ตามระดับของเราด้วย เช่น เราอาจจะศึกษาคำศัพท์สิ่งของรอบบ้าน-ที่ทำงาน หรืออาจจะหาหนังสือนอกเวลามาอ่านเล่น หรืออาศัยคำศัพท์จากหนังสือเล่ม Welkom in Nederland ก็พอช่วยได้ (แต่คำศัพท์สิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังไงก็ต้องหาเรียนเอง)
การไป Taalcafé (ที่มีระบบจัดการที่ดีและอาสาสมัครที่เก่ง) จะช่วยให้เรากล้าพูดดัตช์มากขึ้นได้ แต่ก็อย่าฝากความหวังทั้งหมดไว้ที่ครูอาสาสมัครว่าเขาจะต้องสอนเราจนรู้เรื่องทั้งหมดของ A1-A2 เพราะการฝึกพูดที่ Taalcafé เป็นแค่การเรียนเสริม ไม่ใช่คอร์สเรียนเต็มรูปแบบ
ในส่วนของเกร็ดความรู้ภาษา สำนวนการพูดต่าง ๆ ล้วนมีประโยชน์อย่างมากสำหรับการสื่อสารในชีวิตประจำวัน แต่ถ้าหากว่าเรายังอ่านผสมคำไม่เป็น และแหล่งความรู้นั้นไม่ได้มีคำถอดเสียงที่ถูกต้องแนบมาให้ด้วย เราก็จะได้แค่อ่านผ่านตาและไม่สามารถอ่านออกเสียงให้สมองช่วยจดจำได้ และสุดท้าย เราก็จะลืมมันไปในที่สุด ดังนั้น ก่อนสิ่งอื่นใด ขอให้ตั้งใจปูพื้นฐานการออกเสียงและการอ่านผสมคำให้ดีเสียก่อน เพื่อที่เราจะได้ใช้ประโยชน์จากแหล่งความรู้ที่ดีและฟรีรอบตัวเราได้อย่างเต็มที่
ตัวอย่างรายชื่อหนังสือเสริมไวยากรณ์และทักษะต่าง ๆ และหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับเสริมคลังศัพท์ระดับ 0-A2 มีให้อ่านได้ในบทความนี้
และสำหรับใครที่ใจรักจะลุยเรียนเองแบบไม่ใช้หนังสือ(เยอะ)แล้ว ก็อย่าลืมหาวิธีฝึกฝนและวัดผลตัวเองด้วย
Reactie plaatsen
Reacties