ทำความรู้จักกับหนังสือสีม่วง

Gepubliceerd op 2 april 2024 om 16:41

หนังสือเล่มแรกในชีวิตของแนนคลอดแล้วนะคะ (เรียกว่าคลอดได้เพราะใช้เวลาทำราว ๆ 9 เดือน) เล่มแรกสีม่วงชื่อว่า “Uitspraak Nederlands voor Thai - การออกเสียงภาษาดัตช์สำหรับคนไทย” สำหรับคนที่สั่งซื้อหนังสือแล้ว...ขอขอบคุณมาก ๆ นะคะ ส่วนใครที่กำลังชั่งใจอยู่ว่าจะซื้อดีหรือไม่ ลองอ่านบทความนี้ดูก่อนก็ได้ค่ะ แนนจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับหนังสือเล่มนี้แบบเจาะลึกบทต่อบทเลย

 

สารบัญ

หน้าสารบัญคือจุดรวมเนื้อหาของเล่มแบบจัดเรียงให้มองเห็นชัดเจน ช่วยให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าหนังสือเล่มนี้มีสิ่งที่เราต้องการหรือไม่ แนนขอเน้นย้ำตรงนี้ว่าหนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือเสริมความรู้พื้นฐานที่อัดแน่นไปด้วยข้อมูลและหลักการที่เยอะพอสมควร การพยายามอ่านหนังสือเล่มนี้แบบรวดเดียวจบอาจทำให้เกิดความรู้สึกเหมือนโดนคลื่นซัดลูกแล้วลูกเล่า กลายเป็นความเต็มตื้นและต่อต้านความรู้ในที่สุด วิธีที่แนนอยากแนะนำคือ คนเริ่มต้นเรียนควรเรียนรู้ไปทีละบทแบบไม่ต้องรีบร้อน อ่านทำความเข้าใจคำอธิบายแล้วฝึกออกเสียงตามสเต็ปของตัวเอง ส่วนคนที่เรียนในระดับสูงแล้วควรดูรายชื่อเนื้อหาในหน้าสารบัญแล้วเลือกอ่านศึกษาเฉพาะเรื่องที่ต้องการเรียนหรือปรับแก้พื้นฐานของตัวเอง แนนพยายามสุดความสามารถกับการทำให้หนังสือเล่มนี้มีทุกอย่างสำหรับทุกคน แต่ถ้าใครพบว่าวิธีการสอนอธิบายของแนนใช้ไม่ได้ผล อย่าท้อ ขอให้พยายามเสาะหาสื่อหรือครูที่อาจสอนอธิบายได้ตรงกับลักษณะการเรียนรู้ของตัวเองมากขึ้น

การถอดเสียง

ในหน้านี้จะมีคำอธิบายเกี่ยวกับวิธีการถอดเสียงหรือวิธีเขียนคำอ่านที่แนนใช้ในหนังสือเล่มนี้ซึ่งแนนพยายามคิดออกแบบมาให้คนอ่านแล้วนึกเสียงพูดตามได้ง่ายที่สุด(ในความคิดของแนน) บางหลักการอาจขัดแย้งกับระบบเสียงภาษาไทยอยู่บ้างแต่ก็จะมีคำอธิบายบอกไว้ตลอด ขอให้ทุกคนศึกษาเนื้อหาในส่วนนี้ก่อนเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นเวลาฝึกอ่านออกจากเสียงจากตัวอย่างคำศัพท์ในเล่ม

 

บทที่ 1 - ชุดตัวอักษรภาษาดัตช์

ตอนเริ่มต้นเขียนหนังสือเล่มนี้แนนพยายามพิจารณาว่าคนที่ไม่รู้จักภาษาดัตช์เลยจำเป็นต้องรู้อะไรบ้างถึงจะสามารถอ่านออกเสียงภาษานี้ได้ และแน่นอนว่าเราควรเริ่มที่การท่อง ABC แต่นอกจากการฝึกท่องให้จำชื่อเรียกแต่ละตัวแม่นยำแล้วแนนก็ยังเสริมความรู้เรื่อง Spelalfabet หรือการเรียกตัว ABC ด้วยชื่อเฉพาะหรือชื่อคน เช่น A - Anton, E - Eduard, N - Nico เป็นต้น

 

บทที่ 2 - พยางค์

ก่อนที่จะเริ่มผสมคำเราควรเรียนรู้เรื่องชนิดของพยางค์ก่อน ดูว่าพยางค์ดัตช์กับพยางค์ไทยต่างกันยังไง พยางค์ปิดคืออะไร พยางค์เปิดคืออะไร และตัวสระ e จะทำให้เรื่องนี้วุ่นวายหรือสนุกขึ้นมากแค่ไหน

 

บทที่ 3 - เสียงสระเดี่ยว

พอเริ่มเข้าใจหลักการของพยางค์ปิด-พยางค์เปิดแล้วเราก็จะไปดูเสียงสระแบบตัวเดียวที่แบ่งออกเป็น เสียงสั้นกับเสียงยาว ไฮไลต์ของบทนี้อยู่ที่เสียงของตัวสระ e และเสียงยาวของตัวสระ u ซึ่งแนนมีคำอธิบายการฝึกจัดลิ้นและปากบอกไว้อย่างละเอียด(เท่าที่สามารถจะทำได้) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างข้อยกเว้นที่พยางค์ปิดเสียงสั้นออกเสียงยาว และพยางค์เปิดที่เสียงควรจะยาวแต่กลับออกเสียงสั้นอีกด้วย

 

บทที่ 4 - เสียงพยัญชนะเดี่ยว

หนึ่งในสองบทที่ยาวที่สุดของเล่มนี้มีคำอธิบายเสียงพยัญชนะทุกตัว บางเสียงที่คล้ายภาษาไทยอาจอธิบายน้อยหน่อย เสียงไหนที่ยากหรือแปลกออกไปก็อาจอธิบายเป็นครึ่งค่อนหน้าหรือสองหน้า ไฮไลต์คือเสียงของตัว g แบบขากและตัว g ในคำยืมจากภาษาฝรั่งเศส, เสียงตัว r ที่เพิ่มหน้าฝึกการออกเสียงรัวปลายลิ้นแบบตัว ร ไทยเข้าไปนอกเหนือจากการฝึกพับลิ้นทำเสียง Gooise r และอีกเสียงหนึ่งที่ดูเหมือนจะไม่ยากแต่หลายคนก็ออกเสียงพลาดจนโดนคนดัตช์บ่นว่าออกเสียงเหมือนภาษาอังกฤษก็คือตัว w ที่มีเสียง [ว] เหมือนตัว ว ไทยแต่มาจากท่าเริ่มต้นแบบตัว f และตัว v

 

บทที่ 5 - กฎการแบ่งพยางค์

บทนี้พูดถึงกฎการแบ่งพยางค์ 7 ข้อที่เมื่อผนวกเข้ากับความรู้เรื่องพยาค์ปิด-พยางค์เปิดและเรื่องสระเสียงสั้น-เสียงยาวแล้วอาจช่วยให้ใครหลายคนเริ่มแบ่งพยางค์คำศัพท์ยาว ๆ อ่านได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น ส่วนไฮไลต์ของบทนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องการเชื่อมเสียงสระแล้วเพิ่มเสียง [ย] หรือ [ว] เข้าไป เช่นคำว่า reactie ที่ออกเสียงว่า [เร-ยั่ก-ซี] ทั้งที่ไม่มีตัว j อยู่ในคำศัพท์ และคำว่า januari ที่ออกเสียงว่า [ยัน-นือยฺ-ว่า-รี] ทั้งที่ไม่มีตัว w อยู่ในคำศัพท์

 

บทที่ 6 - เสียงสระประสม

ในบทนี้เราจะได้เรียนรู้ว่าสระ o กับสระประสม eu เหมือนและแตกต่างกันตรงไหนอย่างไรบ้าง และทำไมเสียงสระประสม ui ถึงมีเสียง [ย] ปนอยู่ด้วย นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคำศัพท์ให้ใช้ฝึกออกเสียงสระ ui ที่มีตัวสะกดแบบเน้น ๆ รวมถึงเทคนิคการออกเสียงคำว่า trein ไม่ให้ฟังเป็น “แตรน”

 

บทที่ 7 - พยางค์เน้นเสียง-ไม่เน้นเสียง

ตัวแนนเองยังคงมีปัญหากับการพูดเน้นเสียงคำทั้งภาษาอังกฤษและภาษาดัตช์ สาเหตุส่วนหนึ่งคือแนนไม่เคยเข้าใจหรือเห็นความสำคัญของมันและไม่ได้ฝึกฝนอย่างจริงจัง แต่ช่วงหลัง ๆ มาแนนเริ่มคิดได้ว่าการพูดแบบ “โมโนโทน” ทำเป็นเนียนเหมือนพูดคล่องนั้นใช้ไม่ได้เสมอไป และเราต้องยอมรับว่าหูของคนดัตช์อ่อนไหวกับการเน้นเสียงอย่างมาก ชนิดที่ว่าถ้าเราเน้นเสียงคำผิดที่พวกเขาจะฟังไม่ออกทันที ในบทนี้แนนจึงพยายามตั้งใจอธิบายให้ทุกคน(และตัวแนนเอง)เข้าใจว่าพยางค์เน้นเสียงนั้น “เน้น” อย่างไร แล้วพยางค์ที่ไม่เน้นมันฟังแตกต่างออกไปแค่ไหน จากนั้นก็จะเป็นวิธีการมองหาตำแหน่งของพยางค์ที่เน้นเสียงซึ่งรวมถึงการใช้พจนานุกรมธรรมดา ๆ ที่ทุกคนมีติดบ้านอยู่แล้วด้วย และที่ท้ายบทแนนได้เสริมแทรกเรื่องของการฝึกอ่านตัวอักษรโฟเนติกหรือตัว IPA แบบเบื้องต้น ถ้าใครคิดว่ายากเกินไปก็สามารถข้ามเรื่องนี้ไปได้เลย แนนแค่ใส่เอาไว้สำหรับคนที่สนใจเท่านั้น ไม่ใช่ความรู้ภาคบังคับแต่อย่างใด

 

บทที่ 8 - เสียง [เออะ]

ในบทนี้เราจะเจาะลึกเรื่องพยางค์ที่ไม่เน้นเสียงและการกร่อนเสียงเป็นเสียงชวาหรือเสียง [เออะ] ในกรณีสระ e, i, และ ij เราจะได้เรียนรู้ว่าเสียงชวาในกรณีพยางค์ -el และ -er มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และพยางค์ -ig กับ -lijk ต้องออกเสียง [เออะ] หรือ [อึ] กันแน่ นอกจากนี้ยังมีความรู้เสริมเรื่องการละเสียงตัว n ในพยางค์ -en ที่ไม่เน้นเสียง การตัดเสียงตัว d ในพยางค์ -de, -den, -der ที่ไม่เน้นเสียง รวมถึงการออกเสียงคำว่า er และคำศัพท์ทางไวยากรณ์อื่น ๆ ด้วย

 

ททที่ 9 - เสียงท้ายคำเล็ก -je (Verkleinwoord)

เดิมทีแนนใส่เนื้อหาเรื่องนี้ไว้รวมกับบทที่แล้วเพราะพยางค์ -je กร่อนเสียงสระ e เป็น [เออะ] เหมือนกัน แต่เหตุผลที่เปลี่ยนใจแยกเรื่องนี้ออกมาก็เพราะต้องการให้คนตระหนักว่า พยางค์นี้ไม่ได้ออกเสียงว่า [เจอะ] เสมอไป โดยแนนจะอธิบายและช่วยให้ทุกคนฝึกฝนการเชื่อมเสียงพยัญชนะตัวสะกดข้างหน้าเข้ากับเสียง [เยอะ] ของพยางค์ -je แบบรู้ที่มาที่ไป รวมถึงการรวมเสียงของ sj และข้อยกเว้นในการไม่ออกเสียงตัวสะกดบางตัวหน้าพยางค์ -je(s)

 

บทที่ 10 - อิทธิพลของเสียงตัวสะกด -L

ตัว L ที่เป็นพยัญชนะต้นและตัวควบกล้ำจะออกเสียงเหมือนตัว ล ไทย แต่เมื่ออยู่ในตำแหน่งตัวสะกดมันจะส่งผลให้เสียงสระเปลี่ยนหรือเพี้ยนไปในระดับที่แตกต่างกัน จุดสังเกตสำคัญคือเสียงสระจะห่อเข้าจนทำให้ฟังเหมือนว่ามีตัว ว สะกดอยู่หน้าตัว ล

 

บทที่ 11 - อิทธิพลของเสียงตัวสะกด -R

ตัว R ที่เป็นตัวสะกดจะทำให้เสียงสระยานและฟังดูเหมือนยาวขึ้น แต่หลักการออกเสียงสระสั้น-ยาวจะช่วยให้เราสามารถฝึกออกเสียงพยางค์ -ar กับ -or ให้ฟังแตกต่างจากพยางค์ -aar กับ -oor ได้ดีขึ้น และสำหรับคู่พยางค์ -eer กับ -ier ที่ฟังคล้ายกันอย่างมากแนนก็มีอธิบายมานำเสนอเพื่อช่วยให้ทุกคนตระหนักและเข้าใจความแตกต่างของพวกมันมากขึ้น (แนนเองก็เพิ่งยอมรับแนวคิดนี้ได้แบบเต็มใจหลังจากปริ๊นท์หนังสือออกมาอ่านทวนครั้งแรกเหมือนกัน)

 

บทที่ 12 - เสียงพยัญชนะติดกัน 2 ตัว

จบจากเรื่องหนักสมองก็เข้าสู่ช่วงเวลาของฝึก ฝึก และฝึก โดยในบทนี้เราจะฝึกออกเสียงพยัญชนะ 2 ตัวติดกันทั้งแบบที่เป็นพยัญชนะต้นและตัวสะกด คนที่อ่านมาถึงบทนี้หรือเลือกที่จะเริ่มฝึกจากบทนี้ย่อมต้องรู้ดีอยู่แล้วว่าพยัญชนะแต่ละตัวออกเสียงอย่างไรบ้าง สิ่งที่ต้องทำคือการนำเสียงเหล่านั้นมาเรียงต่อกันแล้วฝึกออกเสียงให้ชัดเจนและครบถ้วน ไฮไลต์ของบทนี้คือเสียงตัวสะกด -ts/-ds ที่แนนมีคำอธิบายเทคนิคการออกเสียงแบบละเอียดมานำเสนอให้ทุกคนลองนำไปฝึกใช้กัน

 

บทที่ 13 - เสียงพยัญชนะติดกัน 3-4 ตัว

ประโยชน์สำคัญที่แนนคาดหวังว่าคนอ่านจะได้รับคือการฝึกทำเสียง Gooise r สำหรับ r ที่เป็นตัวสะกด และเทคนิคการฝึกออกเสียง schr แบบไม่ตื่นตระหนกมากนัก รวมถึงข้อยกเว้นการไม่ออกเสียงพยัญชนะบางตัวที่เมื่อรู้แล้วอาจทำให้เราออกเสียงคำศัพท์ยาก ๆ ได้อย่างสบายใจมากขึ้น

 

บทที่ 14 - เครื่องหมายและการออกเสียง

เนื้อหาบทนี้จะช่วยอธิบายให้หายข้องใจว่าตัวสระ e ที่มีเครื่องหมายขีดด้านบนต้องออกเสียงอย่างไร เครื่องหมาย trema กับ umlaut ต่างกันหรือไม่ แล้วคำว่า een ออกเสียงแบบไหนกันแน่

 

บทที่ 15 - สาระส่งท้าย

ในบทนี้แนนพูดถึงความรู้เสริมที่อาจช่วยต่อยอดการเรียนออกเสียงไปสู่การฝึกฟังและฝึกพูด ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคการฝึกเขียนตามคำบอก การพูดแบบเชื่อมเสียงและรวบคำ ตัวอย่างประโยคเอาตัวรอดระหว่างเรียนรู้ภาษาดัตช์ และรายชื่อหนังสือที่แนนอยากแนะนำให้คนที่สนใจไปหาอ่านเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับการบำบัดการพูดหรือ logopedie ที่แนนตัดสินใจเขียนใส่เอาไว้เพื่อสร้างความตระหนักว่ากระบวนการนี้ไม่ใช่เรื่องโอเวอร์และมันอาจช่วยแก้ไขปัญหาการออกเสียงของเราได้ไม่มากก็น้อย

 

ภาคผนวก

เนื้อหา 27 หน้าสุดท้ายคือลิสต์คำศัพท์ที่แนนคัดเลือกมาเพื่อการฝึกออกเสียงโดยเฉพาะ โดยจะเน้นที่คำยืมจากภาษาต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด ชื่อเฉพาะทั้งชื่อคนและชื่อสถานที่ท่องเที่ยว ชื่อประเทศที่แบ่งกลุ่มตามเสียงพยางค์สุดท้าย ชื่อของกิน และชื่อสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน

 

สุดท้ายนี้แนนขอขอบคุณพี่ปู (ZONE CREATIVE) ที่ออกแบบหน้าปกได้น่ารักแบบนี้ และขอบคุณพี่นิด (นิตยา ภิญโญศรี) กับพี่ตุ๊ก (จารุภา หงษ์ยนต์) ที่ช่วยอ่านตรวจสอบหนังสือรอบแรกและมอบความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงแก้ไขหนังสืออย่างมาก แนนหวังว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยให้ใครหลาย ๆ คนเข้าใจและมั่นใจกับการออกเสียงภาษาดัตช์มากขึ้น...ถ้าฝึกตามแล้วได้ผลดีไม่ดีอย่างไร อย่าลืมส่งข่าวบอกแนนบ้างนะคะ

Reactie plaatsen

Reacties

Er zijn geen reacties geplaatst.